DJ stent หรือสายระบายท่อไตเป็นเครื่องมือผ่าตัดที่มีประโยชน์มากในการผ่าตัดส่องกล้องระบบทางเดินปัสสาวะ คนไข้ของผมมักจะถามว่า “มันคืออะไร” มันจะเป็นอันตรายมั้ยถ้ามาอยู่ในร่างกายคนไข้ ผลข้างเคียงระหว่างที่มีสายระบายท่อไตในร่างกายมีอะไรบ้าง? วันนี้ผมจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับ DJ stent ครับ

สายระบายท่อท่อไตหรือเรียกกันติดปากในหมู่หมอทางเดินปัสสาวะ “DJ stent” เป็นท่อยางขนาดเล็กที่มีการขดม้วนที่ปลายทั้งสองข้าง มันถูกคิดค้นขึ้นในปี 1976 โดยมีประโยชน์อย่างมากในการรักษาโรคระบบทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากรูปร่างของมันเลียนแบบกายวิภาคของท่อไต ซึ่งมีความยาว 25 centimeter และมีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าขนาดของท่อไต จึงได้รับการออกแบบมาเพื่อรักษารูปทรงของท่อไตในกรณีที่ท่อไตมีความผิดปกตอ เมื่อใส่ DJ stent เรียบร้อย เราจะมั่นใจว่าน้ำปัสสาวะจะไหลจากไตไปยังกระเพาะปัสสาวะอย่างสะดวกโดยไม่มีการอุดตันใดๆ

ข้อบ่งชี้ของการใส่ DJ stent
- ภาวะไตติดเชื้อรุนแรงร่วมกับมีการอุดตันของการระบายน้ำปัสสาวะ
- ภาวะไตบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
- ภาวะท่อไตบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
- ภาวะปวดนิ่วอย่างรุนแรง
- ใส่ DJ stent ก่อนทำ Extracorporeal Shockwave Lithotripsy (ESWL) ในรายที่นิ่วในไตมีขนาดใหญ่
- ท่อไตบวมจากนิ่วในท่อไตภายหลัง การผ่าตัดส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ
อายุการใช้งานของ DJ stent – DJ stent ถูกออกแบบให้อยู่ในระบบทางเดินปัสสาวะได้ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม ถ้าใส่ DJ stent เป็นเวลานานๆ จะมีโอกาสเกิดภาวะนิ่วเกาะที่ DJ stent ได้ (แคลเซียมไอออนที่อยู่ในน้ำปัสสาวะจะพยายามเกาะ DJ stent และก่อตัวเป็นนิ่ว)
ผลข้างเคียงของการใส่ DJ stent – DJ stent มีข้อดีและข้อเสีย เราจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงอาการไม่สุขสบายจากการใส่ Stent ในร่างกายของเราได้ เนื่องจากร่างกายของเราฉลาดมาก เค้าจะรู้ว่า DJ stent คือสิ่งแปลกปลอมของร่างกายและต้องการที่จะขับออกโดยการบีบรัดตัวของท่อไต อย่างไรก็ตามร่างกายจะไม่สามารถขับ stent ออกมาได้เพราะตัว stent จะมีขดม้วนที่ปลายทั้ง 2 ข้างซึ่งทำหน้าที่ตรึง DJ stent ไว้ไม่ให้เคลื่อนที่ นำไปสู่สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไม่สบายและระคายเคืองโดยประมาณ 80% ของผู้ป่วยจะบ่นถึงความรู้สึกไม่สบาย ดังนั้นจึงเป็นปกติสำหรับผู้ป่วยที่จะรู้สึกไม่สบายในระหว่างที่ stent อยู่ในร่างกาย ต่อไปนี้คืออาการของผลข้างเคียงในระหว่างที่ DJ stent อยู่ในร่างกาย
- ปัสสาวะบ่อย – 50 ถึง 60%
- กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ – 57 ถึง 60%
- รู้สึกระคายเคืองขณะปัสสาวะ – 40%
- ปัสสาวะไม่สุด – 76%
- ปวดเอว – 19 ถึง 32%
- ปวดหน่วงๆ ท้องน้อย – 30%
- ปัสสาวะเป็นเลือด – 25%

ข่าวดีก็คือทุกอาการที่กล่าวมาจะหายไปเมื่อเราเอา DJ stent ออก หากคุณมีคำถามใดๆ เกี่ยวกับการใส่สาย DJ stent คุณสามารถปรึกษากับหมอทางเดินปัสสาวะที่คุณไว้ใจ หรือลองทัก ผมไว้พบกันใหม่ครับ




