นิ่วในไตเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากที่คลินิคทางเดินปัสสาวะของผมครับ หลังจากที่ผมได้ทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับอุบัติการณ์ของนิ่วในไต พบว่าประชากรสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างน้อย 10% ประสบปัญหานี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในตลอดทั้งชีวิต ซึ่งบางงานวิจัยมีรายงานถึง 17% ของประชากรทั่วไปเลยครับในหัวข้อนี้เราจะมาหาสาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วในไตกันครับ
ทำไมจึงเกิดนิ่วในไต? – เป็นคำถามที่ตอบอย่างเฉพาะเจาะจงได้ยากมากๆ ครับ เพราะนิ่วในไตเกิดขึ้นจากหลากหลายปัจจัย ไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกายแล้วขับออกทางน้ำปัสสาวะ ไตจึงเป็นที่ที่ไอออนหลายชนิด เช่น แคลเซียม ฟอสเฟต กรดยูริก และออกซาเลต (Oxalate) มีความเข้มข้นสูง เมื่อไอออนมีความเข้มข้นถึงระดับสูงสุด ก็เริ่มก่อตัวเป็นนิ่วในไต

นิ่วในไตเกิดจาก 2 ปัจจัยกว้างๆ
- ปัจจัยจากตัวคนไข้เอง
- เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ – ชาวแอฟริกันอเมริกันและคอเคเซียนมีรายงานอุบัติการณ์นิ่วในไตมากกว่าชาวเอเชีย และบางเชื้อชาติโดยเฉพาะชาวกัมพูชาและชาวไทยทางตะวันออกเฉียงเหนือมักประสบกับโรคนิ่วในไตที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมอีกด้วย
- เพศ – ผู้ชายพบนิ่วในไตมากกว่าผู้หญิงด้วยอัตราส่วนประมาณ 2:1
- อายุ – นิ่วในไตมีรายงานมากในช่วงอายุระหว่าง 40 – 60 ปี
- ประวัติโรคประจำตัว – โรคอ้วนและโรคเบาหวานเพิ่มความเสี่ยงนิ่วในไต 55% และ 59% ตามลำดับ โดยสามารถอธิบายได้ง่ายๆ ว่าโรคเหล่านี้จะทำให้ร่างกายขับไอออนในปัสสาวะมากกกว่าปกติ



- ปัจจัยแวดล้อม
- ลักษณะภูมิศาสตร์ – ประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิอากาศเขตร้อนมีรายงานอุบัติการณ์มากกว่า เหตุผลก็คือ คนที่อาศัยอยู่ในสภาพอากาศร้อนมักจะสูญเสียน้ำในร่างกายได้ง่ายจากเหงื่อออก ส่งผลให้น้ำปัสสาวะออกน้อยลง ทำให้ไอออนในปัสสาวะมีความเข้มข้นมากขึ้น
- ปริมาณน้ำดื่มต่อวัน – การดื่มน้ำมากๆ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการลดความเสี่ยงนิ่วในไต โดยทุก ๆ 500 mL ของการบริโภคน้ำที่เพิ่มขึ้นต่อวันจะลดอุบัติการณ์นิ่วในไตได้อย่างมาก ( ปริมาณน้ำที่แนะนำต่อวัน – 2,500 mL )
- ภาวะโภชนาการ – การบริโภคโซเดียมสูง (High sodium) ออกซาเลตสูง (High oxalate) วิตามินซีสูง (High vitamin C) การรับประทานแคลเซียมที่ไม่สมดุลล้วนเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดนิ่วในไต
- การบริโภคซิเตรตไม่เพียงพอ – ไอออนซิเตรต (Citrate) มีประสิทธิภาพในการต่อต้านนิ่วในไต พบมากในมะนาว โดยแนะนำให้ดื่มน้ำมะนาว 1 ถ้วยต่อวันในผู้ป่วยที่มีประวัตินิ่วในไต



บางครั้งนิ่วในไตมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโรคเมตาบอลิซึมเนื่องจากมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งมักทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยนิ่วในไตประสบความยากลำบากในการดูแลตัวเองครับ การให้คำแนะนำที่ดีและความเชื่อใจระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยจะช่วยลดอัตราการเกิดซ้ำของนิ่วในไตได้ครับ
ถ้ามีคำถามหรือข้อสงสัยใดๆ ลองทัก ผม.





หนึ่งความคิดบน “Why kidney stone happens?”