มีคนไข้จำนวนมากถูกส่งตัวมาพบผมเนื่องจากค่า PSA เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยค่าปกติของ PSA ต้องไม่เกินสี่ < 4.0 ng/mL ปัญหานี้สร้างความทุกข์ทรมานใจแก่คนไข้เป็นอย่างมากตั้งแต่ยังไม่มาเจอผมละครับ ว่าตกลงแล้วพวกเขามีความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ ถ้าเสี่ยงเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน โดยผมจะต้องใช้เวลาในการอธิบายค่อนข้างนานสำหรับคนไข้แต่ละคนเพื่อให้คนไข้เข้าใจภาพกว้างของค่า PSA ซึ่งบทความนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้กันครับ
สมมุติถ้าเราตั้งคำถามว่าการคัดกรองมะเร็งชนิดใดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก ต้องตอบว่ามันคือการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกครับ แล้วถ้าเป็นการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยค่า PSA ล่ะ จำเป็นหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้นครับ ผมจะเล่าให้ทุกคนฟัง
เมื่อปี 2018 มีงานวิจัยขนาดใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาเรื่องการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยค่า PSA เค้าได้คำตอบว่าไม่ได้จำเป็นต้องทำในท่านชายทุกคน และจะได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อทำการคัดกรองในท่านชายช่วงอายุ 55 ถึง 69 ปี

ค่า PSA คืออะไร?
PSA ย่อมาจาก Prostate specific antigen ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ผลิตจากต่อมลูกหมากเท่านั้น หน้าที่ของเอนไซม์นี้คือทำให้อสุจิละลายเป็นของเหลวหลังจากท่านชายหลั่งอสุจิออกมา ทำให้ PSA มีความเข้มข้นอย่างมากในเซลล์ต่อมลูกมากแต่เจือจางอย่างมากในเลือด นั่นหมายความว่าเมื่อใดก็ตามที่เซลล์ต่อมลูกหมากมีการแตกไม่ว่าจากกระบวนการใดก็ตามเช่น การอักเสบติดเชื้อ การกระแทกเช่นกิจกรรมทางเพศ ปั่นจักรยานนานๆ หรือ โรคต่อมลูกหมากโตทั่วไป ก็สามารถทำให้ค่า PSA สูงขึ้นได้ครับ
กลับมาที่งานวิจัยของอเมริกาครับ เค้าพยายามศึกษาว่าการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากช่วยให้เราสามารถตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดรุนแรงได้มากน้อยแค่ไหน โดยที่เราจะไม่สนใจมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดไม่รุนแรงนะครับเพราะมีการศึกษาว่าท่านชายที่เสียชีวิตโดยธรรมชาติเมื่อมีการผ่าชันสูตรพบว่า 33% ของท่านชายเหล่านั้นพบมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดที่ไม่รุนแรง ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยค่ะพี่เอสเอจะมีประโยชน์กับท่านชายแค่ 1 คน ต่อท่านชาย 1000 คนของตัวอย่างวิจัยเท่านั้น และไม่มีประโยชน์ในการตรวจท่านชายที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป

เราจะเห็นว่ามีคนไข้มากมายได้รับการตรวจค่า PSA โดยไม่จำเป็นนั่นหมายความว่าเมื่อค่า PSA ให้ผลบวก คนไข้ จะต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น เริ่มตั้งแต่ความเครียดจากการที่รู้ว่าตนเองมีผลเลือดที่ผิดปกติ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีการตรวจเพิ่มเติมเช่น การเก็บชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก Prostate biopsy หรือแม้กระทั่งภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อต้องผ่าตัดต่อมลูกหมาก Prostate surgery เช่นโรคนกเขาไม่ขันหรือโรคปัสสาวะเล็ดราด
คำถามง่ายๆ แล้วท่านชายควรต้องตรวจ PSA หรือไม่ คำตอบก็คือถ้าคุณอยู่ในช่วงอายุ 55 ถึง 69 ปีคุณควรปรึกษาหมอทางเดินปัสสาวะที่คุณไว้ใจเพื่อพิจารณาว่าคุณควรตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ รวมถึงวางแผนล่วงหน้าว่าถ้าค่า PSA เกินค่ามาตรฐานจะต้องทำอย่างไร หากคุณมีคำถามใดๆ สามารถทัก ผม ได้ครับ
ถ้าคุณตรวจพบค่า PSA สูง ลองดู ลิงค์ นี้ครับ





2 คิดเกี่ยวกับ “Should I go on the PSA screening test?”